วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

20 วิธีการเลี้ยงลูกให้สมองทำงานดี

20 วิธีการเลี้ยงลูกให้สมองทำงานดี

1.กินอาหารที่ดี พักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ
สร้างสุขอนามัยที่ดีให้ลูก 

- เลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด
- ดื่มน้ำให้มาก
- นอนหลับให้เพียงพอ

“สมอง” ประกอบด้วยน้ำถึง 85% และต้องการออกซิเจนมากถึง 20% ของออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายจึงจะสามารถทำงานได้ดี ดังนั้น น้ำ และออกซิเจนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อสมอง พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกดื่มน้ำให้มาก นอกจากนั้น ควรปลูกฝังนิสัยการรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด และฝึกให้ลูกเข้านอนตรงเวลา และนอนหลับไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้หลากหลาย 

สุขอนามัยที่ดีจึงเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดีอย่างปฏิเสธไม่ได้ค่ะ

2.ลงมือทำเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส
เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบกับประสาทสัมผัสของลูก จะเกิดเป็นกระแสประสาทวิ่งไปสู่สมอง สมองจะรับรู้ข้อมูล และส่งข้อมูลไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้องโดยผ่านเส้นใยสมองที่ทำหน้าที่รับ และส่งข้อมูล เมื่อลูกได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยวิธีการที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทในปริมาณที่พอเหมาะ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สมองลูกมีเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อมากเท่าไร ลูกก็จะยิ่งฉลาด และมีความสามารถสูงขึ้นเท่านั้น 

ปริมาณจุดเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทเหล่านี้เป็นรากฐานของการรู้คิด และทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆทั้งในห้องเรียน และชีวิตประจำวันของลูกในระยะยาวค่ะ

3.นิทานและหนังสือที่หลากหลายให้กับลูก
“นิทาน” เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับเด็ก อะไรก็เป็นจริงได้ในนิทาน ทำให้เด็กได้รับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจินตนาการ ฝึกทักษะการฟัง ยิ่งเป็นนิทานคำกลอนด้วยแล้วเด็กเล็กจะชอบฟังเป็นพิเศษ เพราะ มีเสียงคล้องจองกันสนุกสนาน นิทานยังช่วยสร้างคลังคำอันเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ภาษาให้แก่เด็ก นอกจากนั้น คุณพ่อ คุณแม่ยังสามารถปลูกฝังจริยธรรมผ่านนิทานได้ด้วย

การโอบกอด สัมผัสที่อบอุ่น และแน่นแฟ้น เป็นการยืนยันให้ลูกรู้ว่าเขามีค่ากับพ่อแม่มากเพียงใด และเขามีที่พึ่งเป็นพ่อแม่เสมอไม่ว่าเขาจะต้องเจอกับอะไรก็ตาม

4.เล่นสี ชั่วโมงศิลปะ
ศิลปะคือการเล่นที่มีเส้น และสีเป็นพื้นฐาน การทำงานศิลปะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้เด็กเสมอ ในเด็กอายุ 2 - 3 ปีควรเริ่มเล่นสีจากการระบายสีน้ำแบบ Wet on Wet เพราะ เด็กจะรู้สึกสงบจากภายในเมื่อได้เฝ้าดูสีต่างๆที่ไหลรวมกัน แล้วจึงเขยิบเปลี่ยนเป็นสีเทียนแท่งอ้วนๆ และสีไม้แท่งใหญ่ที่จับถนัดมือ การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กจะส่งผลให้สมองทำงานได้ดีขึ้น การทำงานศิลปะยังเป็นการสร้างสมาธิ ความจดจ่อ มือตาสัมพันธ์ และทำให้เด็กเรียนรู้ความสุขที่มาจากภายในตัวเองด้วยค่

5.ดนตรีและการเคลื่อนไหว
มีงานวิจัยที่พบว่าเสียงดนตรีสามารถเพิ่มความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลได้ นอกจากนั้น ดนตรียังใช้พัฒนาสมองซีกขวาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองภาพรวมได้ดี กิจกรรมดนตรี และการเคลื่อนไหวง่ายๆที่พ่อแม่สามารถทำกับลูกได้ เช่น ร้องเพลงกับลูก ช่วยกันคิดท่าทางประกอบเพลง แต่งเพลงง่ายๆร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวที่จะประทับอยู่ในความทรงจำของเด็กตลอดไป 
เน้นเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหว จังหวะ การร้อง และกิจกรรมทางดนตรีก่อนนะคะ ไม่จำเป็นต้องให้เด็กเรียนเครื่องดนตรีใดเครื่องดนตรีหนึ่งแบบเจาะจงลงไป และเปียโนควรเรียนเมื่อหกขวบขึ้นไปค่ะ เพราะ กล้ามเนื้อนิ้วจะพร้อมค่ะ

6.เล่นกีฬาและออกกำลังกาย
ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเล็กมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมอง เด็กที่มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อต่างๆในร่างกายอย่างเหมาะสม และหลากหลายจะช่วยให้มีพัฒนาการที่ดี นอกจากนั้น กีฬา และการออกกำลังกายยังช่วยเสริมสร้างสมาธิ วินัย และความภาคภูมิใจในตัวเอง สำหรับเด็กบางคนอาจชอบกีฬานั้นมากจนสามารถพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปได้

7.ทำอาหารด้วยกัน
การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ครบถ้วน ได้แก่ ตามองดูอาหารว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นลิ้มชิมรสชาติ หูต้องคอยฟังเสียงในการทอด ผัด อบว่าอาหารสุกได้ที่หรือยัง และมือต้องจับวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งแป้ง น้ำตาล กะทิ และส่วนผสมอื่นๆ ทำให้ประสาทสัมผัสได้รับการกระตุ้นอย่างครบถ้วน นอกจากนั้น ลูกยังได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไปในคราวเดียวกันผ่านกิจกรรมทำอาหารง่ายๆแบบนี้ ในเด็กบางคนที่รับประทานอาหารยากก็มีแรงจูงใจมากพอที่จะชิมฝีมือตัวเองจนหมดจาน และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองด้วยค่ะ

8.ปลูกผักไว้กินเอง
สิ่งที่ได้มากกว่าการเฝ้าดูความเติบโตของเมล็ดผักที่เราเอาลงดินไป คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ ทุกวันลูกจะต้องรดน้ำต้นไม้ ตรวจตราดูว่ามีศัตรูพืชหรือวัชพืชใดๆหรือไม่ ถึงเวลาที่ต้องใส่ปุ๋ย พรวนดินหรือยัง และเมื่อเก็บเกี่ยวได้แล้วก็นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของผู้ปลูก และผู้ดูแลแปลงผักนี้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ

9.ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ
แท้จริงแล้ว มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อร่างกายถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติจะทำให้เกิดความสุขสงบขึ้นมาจากภายใน ลูกจะรับรู้ได้ถึงความสุขจากความเรียบง่าย เมื่อปลูกฝังไปนานๆเด็กที่เข้าใจธรรมชาติจะเข้าใจชีวิตด้วย เข้าใจว่า “ไม่มีอะไรแน่นอน” และความไม่แน่นอนนี้เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นพัฒนาการทางปัญญา จิตใจ และทักษะชีวิตที่ดีค่ะ

10.เล่มบทบาทสมมติ
เล่นสมมติเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เด็กได้ใช้จินตนาการเป็นอย่างมาก ทำให้สมองได้คิดเชื่อมโยงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ เล่นสมมติเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ช่วยให้เด็กการริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆโดยไม่มีคำว่าอุปสรรคเข้ามายุ่งเกี่ยว เวลาที่ลูกเล่นสมมติอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น คุณพ่อ คุณแม่ควรเฝ้าดูห่างๆไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการเล่น เพราะช่วงเวลานี้เองที่สมองกำลังเกิดการเชื่อมโยงเป็นอย่างมาก และลูกกำลังอยู่ในโลกที่เขาสร้างขึ้นเอง ปรากฏการณ์นี้มีเวลาไม่ถึงสิบปีในชีวิตที่ลูกจะมีโลกแบบที่เขาต้องการจะให้เป็นได้อย่างสนิทใจ

11.เล่นเพื่อการคิด
“สมองมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุดเมื่อผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ในสมองจะมีการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข และจะไปเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ให้สูงขึ้น”

เป็นที่ยอมรับในระดับสากลถึงความทรงอิทธิพลของการเล่นว่ามีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา “การเล่น” จึงถูกเชื่อมโยงเข้าสู่งานด้านการศึกษาปฐมวัย รวมถึงจิตวิทยาเด็ก และครอบครัวทั้งในแง่การส่งเสริม ป้องกัน บำบัด และฟื้นฟู ภายใต้แนวคิด “Play during early childhood is necessary if humans are to reach their full potential” การเล่นในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์คนหนึ่งสู่ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงของเล่นสำเร็จรูปที่ของเล่นชิ้นนั้นเล่นด้วยกลไกของมันเอง ลูกเพียงแต่เฝ้าดูกลไก ไม่เกิดการลงมือทำ เพราะ การลงมือทำเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการกระทำของตนเองจะทำให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะต่างๆมากกว่าการเล่นของเล่นสำเร็จรูปที่ลูกแทบไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย

12.ทำงานบ้านและรับผิดชอบหน้าที่ตนเอง
เป็นความรับผิดชอบ และวินัยที่ลูกพึงมี เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีในหน้าที่ของตนจะเป็นเด็กที่มีเป้าหมายในการทำสิ่งต่างๆ พึ่งพาตัวเองได้มาก นอกจากนั้น ยังเป็นการปลูกฝังจิตสาธารณะโดยเริ่มจากครอบครัว พ่อแม่ควรพูดกับลูกว่า "บ้านของเราที่เราอยู่รวมกันนี้เป็นของทุกคน จึงต้องช่วยกันดูแล รักษาความสะอาด ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น"

พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีหน้าที่ประจำของตัวเองตามความสามารถ เช่น กรอกน้ำใส่ขวด เอาขยะไปทิ้ง รดน้ำต้นไม้ เก็บจาน เช็ดโต๊ะอาหาร เป็นต้น

13.แก้ปัญหาด้วยตนเองบ้าง
พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกได้แก้ปัญหาต่างๆด้วยตัวเองบ้าง เด็กที่เรียนรู้การแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองจะไม่ย่อท้อต่อปัญหา รู้จักใช้สมองส่วนหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น และสื่อสารความคิดของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ลูกจะเรียนรู้ "การพึ่งตนเอง" เมื่อวันหนึ่งที่เขาต้องเผชิญโลกนี้คนเดียวเขาจะก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ นอกจากนั้น ลูกยังได้เรียนรู้ความแตกต่างของผู้คน และรู้จักปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมากต่อไปค่ะ

14.สอนให้มีจิตสาธารณะ
จิตสาธารณะเป็นเรื่องที่อาศัยเวลาในการบ่มเพาะกว่าจะงอกเงยในเด็กคนหนึ่งอาจใช้เวลาหลายปี แต่เชื่อเถอะค่ะว่า "Children See, Children Do : เด็กเห็นอย่างไรก็ทำอย่างนั้น" นักทฤษฏีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Cognitive Learning Theory) ชื่อ Albert Bandura ได้กล่าวไว้ว่า ตัวแบบ (modeling) และ การลอกเลียนแบบ (imitation) มีผลต่อการเรียนรู้ กล่าวคือ คนเรียนรู้ได้จาการดูหรือสังเกตด้วยความตั้งใจ (attention) ทำให้เห็นภาพ กระบวนการจดจำ (Retention) วิเคราะห์ และตัดสินใจแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวอย่าง (Reproduction) สรุปสั้นๆว่า ถ้าพ่อแม่ซึ่งเป็นตัวแบบ (Modeling) ได้ลงมือทำสิ่งที่ดีให้ลูกเห็นย่อมทำให้ลูกเกิดแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการทำพฤติกรรมนั้น ซึ่งครูปุ๊กคิดว่า "Children See, Children Do" นี้เป็นไปในทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องจิตสาธาณะเท่านั้นนะคะ

15.สนับสนุนสิ่งที่สนใจ
เด็กมีความสนใจที่หลากหลาย และมักมีคำถามมาให้พ่อแม่ช่วยหาคำตอบให้เสมอ พ่อแม่ไม่ควรปล่อยโอกาสที่ลูกกำลังมีความกระหายใคร่รู้อย่างเต็มที่ผ่านไปเฉยๆ เพราะ ลูกกำลังมีแรงจูงใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสิ่งเหล่านั้นจะช่วยให้ลูกมีความรู้รอบตัวซึ่งเขาอาจได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง

ครอบครัวที่เพิกเฉยเบื่อหน่ายต่อการตอบคำถามของลูกจะเสียเปรียบครอบครัวที่กระตือรือล้นค้นคว้าหาคำตอบมาให้ลูกค่ะ หลายครั้งที่เด็กสองคนมีต้นทุนชีวิตที่ไม่ต่างกันเลยแต่กลับมีศักยภาพที่ต่างกัน เพราะ ความใส่ใจของพ่อแม่ต่างกันค่ะ

16.หลีกเลี่ยงการใช้สื่ออนไลน์
ภาพ แสง สี เสียงของสื่อ Online และ Digital ที่ล้อมรอบสังคมโลกทุกวันนี้เป็นสิ่งเร้าที่มีระดับเกินธรรมชาติ เมื่อลูกได้รับภาพ แสง สี เสียง เหล่านี้มากๆจนเคยชิน จะทำให้วงจรสมองส่วนพึงพอใจ(Brain Reward Circuit) มีระดับสูงเกินปกติ เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สิ่งเร้าเป็นไปตามปกติจึงไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจได้มากพอ เพราะ สารเคมีในสมองส่วนพึงพอใจได้เปลี่ยนการทำงานของสมองส่วนนี้ไปแล้ว กระบวนการชีวเคมีในสมองของเด็กที่เสพย์สื่อ Online และ Digital จนเกินพอดีนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกับการเสพย์สารเสพติด ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ไม่นานอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และมีความพร่องด้านการใช้ภาษา เพราะ อยู่กับการสื่อสารทางเดียว

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อ Online และ Digital เมื่ออยู่กับลูกเพื่อใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวอย่างแท้จริง และเป็นแบบอย่างในการใช้สื่อเหล่านี้เมื่อจำเป็นเท่านั้นค่ะ
17.หลีกเลี่ยงการทำโทษด้วยอารมณ์
เมื่อลูกทำผิดจนถึงขั้นต้องลงโทษ พ่อแม่ควรสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ไม่ชอบพฤติกรรมลูกเท่านั้นไม่ใช่ไม่ชอบตัวลูก และมีการอธิบายเหตุผลการลงโทษ ไม่ควรทำโทษลูกอย่างทารุณกรรม

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในสังคมนั้นต้องเกิดจากการที่เด็กเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวก่อน ถ้าแม้แต่ในครอบครัวยังไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยกันได้ เด็กก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ยาก และเด็กที่โดนทารุณกรรมทางกายย่อมกระทบถึงใจ เขามีโอกาสที่จะปฏิบัติกับผู้อื่นในแนวทางเดียวกับที่เขาได้รับการปฏิบัติมา ถ้าครอบครัวปฏิบัติอย่างให้เกียรติเขา เขาจะปฏิบัติอย่างให้เกียรติกับผู้อื่นเช่นกัน

ในแง่การทำงานของสมองนั้น การเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจะทำให้สมองทำงานช้าลง คิดไม่คล่องแคล่ว ขาดความภาคภูมิใจ และนับถือตนเอง

18.สร้างบรรยากาศในครอบครัว
ความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อกับแม่ทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ ไม่รู้สึกหวาดหวั่นว่าพ่อแม่จะหย่าร้างหรือต้องแยกจากพี่น้องคนอื่นๆเพื่อเลือกว่าจะอยู่กับใคร

ในครอบครัวที่มีปัญหากัน ลูกย่อมรู้สึกเศร้าทำให้สมองทำงานได้ช้าลง ไม่พร้อมที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ที่ส่งผลในระยะยาวต่อไป คือ ลูกมีโอกาสหวาดหวั่นในชีวิตสมรสของตัวเองต่อไปในอนาคตว่าจะประสบพบเจอเหมือนกับที่พ่อแม่เคยเป็นมาหรือไม่

พ่อแม่จึงควรรักษาความสัมพันธ์ให้ดีอยู่เสมอ หากมีข้อขัดแย้งกันควรพูดคุยกันปัญหาต่างๆเป็นการส่วนตัว ลูกรับรู้อารมณ์ของพ่อแม่เสมอตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เขารู้ว่าตอนนี้บรรยากาศรอบตัวกำลังสุขหรือทุกข์ การสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้สงบสุขจึงมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของลูกมาก

19.พูดคุยถึงอารมณ์และความรู้สึก
เด็กจะมีอารมณ์สงบก่อนนอนหลับนับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่พ่อแม่น่าจะใช้พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับความรู้สึกว่ารักเขามากเพียงใด และพ่อแม่จะอยู่ตรงนี้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน ลูกอาจเปิดใจเล่าความไม่สบายใจหรือถามคำถามที่ติดค้างในใจ พ่อแม่มีโอกาสได้ตอบ ได้อธิบายในข้อสงสัยนั้น ทำให้เด็กเกิดความมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ สบายใจ และมีความสุขค่ะ

20.กอดหอมชดเชย
เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งดีๆในตัวเอง เขารักคนที่เลี้ยงดูใกล้ชิดเขา และอยากให้ตนเองเป็นที่รักของคนรอบข้างด้วย การแสดงออกว่าเรารักลูกด้วยการกอด หอม และชมเชยอย่างสมเหตุสมผลจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ลูกจะเชื่อว่าเขาทำได้ทุกอย่าง จะดีหรือไม่ดีเท่ากับใครนั้นก็ไม่สำคัญว่าเขาได้ทำดีที่สุดแล้ว ประโยคที่พ่อแม่ควรพูดกับลูก คือ “หนูเก่งกว่าที่หนูคิด” และ “หนูสามารถทำได้ดีกว่าที่หนูทำอยู่”

บอกลูกนะคะว่า “ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรคุณก็จะรักเขาอย่างที่เขาเป็น ลูกรักพ่อแม่ที่สุด แต่บางทีเขาก็สงสัยค่ะว่า พ่อแม่รักเขาที่สุดหรือไม่ ช่วยยืนยันกับลูกหน่อยนะคะ

20 วิธีที่แนะนำมานี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เงินจำนวนมากมายเลยนะคะ สรุปสั้นๆได้ว่าคุณสามารถช่วยให้สมองของลูกทำงานอย่างเต็มศักยภาพได้ ใช้เวลาคุณภาพกับลูก

เวลาคุณภาพนี้ใช้เวลาเพียง 20 - 30 นาทีต่อวันก็เพียงพอให้สมองของลูกทำงานได้ดีแล้ว แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกโดยตรง ไม่มีภาระงานอื่นเข้ามาแทรกแซงนะคะ อยากให้เป็นเวลาของพ่อแม่ลูกอย่างแท้จริง

ที่มา : https://www.facebook.com/PlayAcademyTH/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น